ด้วยเหตุผลในด้านการปฏิบัติงานให้เกิดความรัดกุม และประสิทธิภาพ คณะกรรมการของโครงการบ้านเรียนรุ่งอรุณ ซึ่งเกิดจากกลุ่มนักการศึกษาที่สนใจการศึกษาทางเลือก อาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้ปกครอง จึงริเริ่มจัดตั้งสมาคม เพื่อทำหน้าที่จัดการศึกษา และกำกับดูแล โครงการบ้านเรียนรุ่งอรุณที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๕๖ ซึ่งต่อมาได้เห็นชอบร่วมกันที่จะจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนอรุณ
ศูนย์การเรียนแห่งนี้ เกิดจากกลุ่มบุคคลที่มีทัศนะต่อการศึกษาตรงกัน คือ เล็งเห็นว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาความเป็นมนุษย์ และการศึกษาที่แท้จริง คือ สิ่งที่ผู้เรียนเห็นประโยชน์ เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยไม่มีที่สิ้นสุด ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดในการจัดการเรียนรู้ ก็คือการวางรากฐานของการเรียนรู้ ผ่านการค้นคว้า เข้าถึงข้อมูล คิด วิเคราะห์ จนเกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ เมื่อเป็นไปได้เช่นนี้ ผู้เรียนก็จะมีทักษะสามารถเริ่มต้นเรียนรู้ในเรื่องต่าง ๆ ตามความสนใจได้อย่างไม่สิ้นสุด และมีประสิทธิภาพ
และตลอดระยะเวลา ๗ ปี ที่จัดการศึกษาแบบทางเลือกภายใต้โครงการบ้านเรียนรุ่งอรุณได้ มุ่งเน้นการบูรณาการ และพัฒนาไปสู่การทำโครงงานกิจกรรม มีผู้เรียนสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลาย เข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย ไปแล้ว รวม ๕ รุ่น ดังนี้ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะมนุษยศาสตร์ สาขาจิตวิทยา, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน, มหาวิทยาลัยมหิดล คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ, มหาวิทยาลัยมหิดล คณะการแพทย์แผนไทย, มหาวิทยาลัยมหิดล คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ และจบมหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะศึกษาศาสตร์ เอกวิทยาศาสตร์การกีฬา เกียรตินิยมอันดับ ๑ ด้วยการเรียนในระบบพรีดีกรีตั้งแต่ระดับชั้นมัธยม ๔ ผู้เรียนสามารถเรียนในระดับมหาวิทยาลัยได้อย่างดี เนื่องจากมีพื้นฐานของการทำโครงงานกิจกรรม ซึ่งใกล้เคียงกับการทำวิจัยในการศึกษาระดับสูง และผู้เรียนมีพื้นฐานความเข้าใจในเรื่องการกำหนดวัตถุประสงค์ สรุปบทเรียน การวิเคราะห์ ประเมินมาก่อน สมาคมฯ จึงเกิดแนวคิดที่จะรวบรวมโครงงานการเรียนรู้ที่ผู้เรียนกำหนดขึ้น ประมวลผลสำเร็จ ปัญหา ข้อจำกัดต่าง ๆ ในรูปแบบของการวิจัย ไม่เพียงเพื่อใช้เป็นแนวทางให้กับผู้สนใจที่จะเลือกเรียนในแบบทางเลือกดังกล่าวในอนาคต หากยังเป็นการตรวจสอบ ประเมินผล และประมวลข้อดีข้อเสียของการจัดการศึกษาในรูปแบบนี้ ซึ่งสมาคมใช้คำว่า Project – Based Learning โดยติดตามจากกลุ่มเป้าหมายจริง ที่ผู้ทำวิจัยเข้าใจพื้นฐานของแต่ละรายอย่างถ่องแท้ เป็นการลดความคลาดเคลื่อนจากความไม่เข้าใจในการศึกษาวิจัย ทั้งนี้ผลการศึกษาที่ได้จะเป็นฐานข้อมูลของการพัฒนาระบบการศึกษาทางเลือกในประเทศไทย